ผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ใช่ผู้ป่วย AIDS ความแตกต่างของผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วย AIDS เป็นอย่างไร

เชื้อ HIV (เอชไอวี) หรือ Human Immunodeficiency เป็นเชื้อไวรัส ผู้ที่รับเชื้อ HIV หลังรับเชื้อ 2-4 สัปดาห์ ร่างกายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เจ็บคอ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ และมักไม่แสดงอาการใดๆ โดยในระยะนี้ไวรัสจะเข้าไปใน “CD4” และทำให้เซลล์เหล่านี้ตายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ “CD4” ในเลือดลดจำนวนลง เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างแอนติบอดีในเลือดซึ่งใช้ในการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยผู้ที่อยู่ในระยะนี้ เรียกว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งถือเป็นระยะติดเชื้อปฐมภูมิ หรือระยะที่ 1

ระยะติดเชื้อเรื้อรัง (ระยะที่ 2) ผู้ติดเชื้ออาจจะมีเชื้อราขึ้นที่ลิ้น หรือเป็น วัณโรค เริม หรือโรคงูสวัด เกิดขึ้นได้ อาการมักไม่รุนแรง และมักจะรักษาโรคเหล่านี้ได้ ระยะนี้ของโรคก็ยังไม่เรียกโรคเอดส์ เช่นกัน ระยะนี้ เชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำเหลืองและในม้าม และจะแบ่งตัวเพิ่มปริมาณในอวัยวะทั้งสองนี้เป็นส่วนใหญ่ ปริมาณของ CD4 ในเลือดจะลดจำนวนลงอย่างช้าๆ จากงานวิจัยพบว่าเชื้อ HIV ทำลายเซลล์ CD4 โดยเฉพาะตัว Th17 มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย จะไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัส และเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก เพราะ CD4 จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ การได้รับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอและการออกกำลังกายจะเพิ่ม CD4 ได้ด้วยตัวเอง โดยควรพยายามให้ CD4 อยู่ในระดับสูงกว่า 350 cell/cu.mm ค่า CD4 ปกติของคนทั่วไป = 530-1350 cell/cu.mm

ระยะที่เป็นโรคเอดส์ (ระยะที่ 3) พบว่าปริมาณของ CD4 ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 200 cell/cu.mm และจะมีการติดเชื้อฉวยโอกาส ในอวัยวะสำคัญอย่างรุนแรง เช่น ปอด สมอง และมีมะเร็งชนิดต่างๆ เกิดขึ้นได้ ระยะนี้เป็นระยะที่ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายถูกทำลายเกือบทั้งหมด จะเกิดตุ่ม PPE / ผื่น PPE หรือที่เรียกว่าตุ่มเอดส์ หรือตุ่ม HIV ซึ่งแสดงว่าระดับ CD4 ต่ำกว่า 100 cell/ml หรือ CD4 % ต่ำกว่า 5% และการเพิ่ม CD4 ด้วยตนเอง เป็นไปได้ยากขึ้น ดังนั้นผู้ติดเชื้อควรรักษาสุขภาพและระดับ CD 4 ไว้ไม่ให้ก้าวมาสู่ในระยะนี้

สรุป ก็คือระยะที่ 1 และ 2 ของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ยังไม่เรียกว่าเป็นโรคเอดส์
ทางการแพทย์จะเรียกระยะที่ 3 ของโรคว่าเป็นโรคเอดส์เท่านั้น